ถังแก๊ส NGV


ถังบรรจุแก๊สNGV หรือถังก๊าซ ถือเป็นเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากสำหรับการใช้ก๊าซธรรมชาติอัด เพราะต้องเป็นตัวบรรจุก๊าซซึ่งมีความดันสูงถึง 3,000-3,600 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว

ปัจจุบันมีการผลิตถังแก๊สอยู่ 4 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 ถังที่ทำด้วยเหล็ก หรือ อลูมิเนียม
ประเภทที่ 2 ถังที่ทำด้วยเหล็ก หรือ อลูมิเนียม และหุ้มด้วยวัสดุใยแก้ว หรือ เส้นใยคาร์บอน
ประเภทที่ 3 ถังที่ทำด้วยแผ่นอลูมิเนียมที่บางกว่าชนิดที่ 2 และหุ้มด้วยวัสดุใยแก้วหรือเส้นใยคาร์บอนตลอดตัวถัง
ประเภทที่ 4 ถังที่ทำด้วยแผ่นพลาสติกและหุ้มด้วยวัสดุใยแก้วและเส้นใยคาร์บอนผสมกันวัสดุใยแก้ว (Fiberglass)

ชนิดแรกจะมีน้ำหนักมากที่สุดแต่ต้นทุนต่ำสุดครับ ส่วนชนิดที่ 3 และ 4 มีน้ำหนักเบากว่าแต่ต้นทุนค่อนข้างสูง โดยสามารถเปรียบเทียบเป็นอัตราส่วนต้นทุนและน้ำหนักของถังแก๊สทั้ง 4 ประเภทดังตารางต่อไปนี้

1. เหล็ก ต้นทุน 40% น้ำหนัก 100%
2. เหล็ก, วัสดุใยแก้ว ต้นทุน 80% น้ำหนัก 65%
    อลูมิเนียม, วัสดุใยแก้ว ต้นทุน 95% น้ำหนัก 55%
3. อลูมิเนียม และหุ้มด้วยวัสดุใยแก้ว ต้นทุน 90% น้ำหนัก 45%
    อลูมิเนียม และหุ้มด้วยเส้นใยคาร์บอน ต้นทุน 100% น้ำหนัก 25%
4. พลาสติกและหุ้มด้วยวัสดุใยแก้วและเส้นใยคาร์บอนผสมกันวัสดุใยแก้ว ต้นทุน 90% น้ำหนัก 30%

สำหรับถังบรรจุก๊าซ NGV ที่ใช้อยู่ในเมืองไทยของเรา ส่วนใหญ่เป็นถังเหล็กขนาดความจุประมาณ 70 ลิตร (น้ำ) มีน้ำหนักประมาณ 63 กิโลกรัม เมื่อรวมกับน้ำหนักก๊าซ NGV ที่บรรจุเต็มถังอีกประมาณ 15 กิโลกรัม จะมีน้ำหนักรวมประมาณ 78 กิโลกรัม

หลายท่านอาจมีคำถามค้างคาจิตใจว่าติดตั้งถังแก๊สไว้ในรถยนต์แล้วจะปลอดภัยหรือเปล่า ไม่ต้องเป็นห่วงครับ เพราะถังแก๊สทุกใบแข็งแรงทนทานเป็นพิเศษ หล่อขึ้นโดยไม่มีรอยต่อเป็นเนื้อเดียวตลอดทั้งถัง ขนาดใช้ปืนกล M.60 ซึ่งบรรจุกระสุนขนาด 7.62 มิลลิเมตร ยิงถังที่มีก๊าซ NGV บรรจุอยู่เต็มถัง ปรากฎว่าถังทะลุ ก๊าซพุ่งออกมาแล้วฟุ้งกระจายขึ้นไปในอากาศอย่างรวดเร็ว แสดงว่าถ้ารถของเรามีอุบัติเหตุทำให้ถังถูกเจาะจนทะลุ ก็จะไม่เกิดการระเบิดขึ้นครับ

และเรื่องของการทนความดัน ถังทุกใบทนความดันได้ถึง 2.5 เท่าของความดันปกติครับ ต่อให้มีไฟมาเผาถังแก๊สก็จะไม่มีอันตราย เพราะวาว์ลหัวถังก็ระบายก๊าซออกมาจากถัง โดยอัตโนมัติ

นั่นแสดงให้เห็นว่า หากเกิดอุบัติเหตุไฟใหม้รถยนต์ จนถังแก๊สมีอุณหภูมิหรือความดันเกินกำหนด วาว์ลนิรภัยที่หัวถังจะทำงานด้วยการระบายก๊าซออกจากถังทันทีเพื่อไม่ให้เกิดการระเบิดขึ้นครับ ทราบกันอย่างนี้แล้วก็คงหายห่วงแล้วใช่ไหมครับ รีบไปติดตั้งอุปกรณ์ NGV กันเลยนะครับ สนพ.รับรองว่าคุ้มแน่นอน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
www.eppo.go.th/ngv/ngv_gas.html